“ศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562” ตามหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0107/ว 3487 ลงวันที่ 11 เมษายน 2562 เรื่อง ขอความร่วมมือในการดำเนินการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในหมวดที่ 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 253 กำหนดให้การดำเนินงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น เปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ รวมตลอดทั้งมีกลไกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 มาตรา 12 (12) กำหนดให้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะและจัดระบบตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น และแผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. (ฉบับที่ 2) ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการของอปท.และตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายรัฐมนตรีสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามหนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร 0107/ว 7016 ลงวันที่ 28 กันยายน 2561 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ความรู้ การเสนอแนะความคิดเห็น ความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นการประสานงานและการติดตามประเมินผล
ความเป็นมา
องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเรียกชื่อย่อว่า อบจ. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่มีการปกครองอยู่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและวิวัฒนาการมาตามลำดับ โดยจัดให้มีสภาจังหวัดเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2476 ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476 ฐานะของสภาจังหวัดขณะนั้น มีลักษณะเป็นองค์กรแทนประชาชน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือแนะนำแก่คณะกรรมการจังหวัด และมีการปรับปรุง อำนาจหน้าที่เรื่อยมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2498 รัฐบาลในสมัยนั้น คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีความพยายามในการจัดการปกครองท้องถิ่น ได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงบทบาทสภาจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้น จึงได้เกิดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขึ้นตามระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 โดยแยกจากจังหวัดซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค กำหนดให้ อบจ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีโครงสร้างและองค์ประกอบของอบจ.กระทั่งเมื่อมีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ออกใช้บังคับเพื่อกระจายอำนาจการปกครองให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลองค์การบริหารส่วนจังหวัด จึงได้ปรับปรุงบทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้มาจนถึง พ.ศ. 2540 สำหรับอำนาจหน้าที่ของอบจ. ในขณะนั้น กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินส่วนจังหวัดภายในเขตจังหวัดซึ่งอยู่นอกเขตเทศบาล สุขาภิบาล และหน่วยการปกครองท้องถิ่นรูปแบบอื่น
อาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลังแรก ตั้งอยู่บริเวณศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานีหลังเก่าริมแม่น้ำตาปีตรงข้ามศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีในสมัยนั้น ในขณะนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 ดังนั้นกล่าวได้ว่านายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีคนแรก คือ นายจันทร์ สมบูรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในส่วนของฝ่ายสภาในขณะนั้นได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบในการออกข้อบัญญัติปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีส่วนราชการในสังกัดได้แก่ สำนักงานเลขานุการจังหวัด ส่วนการคลัง ส่วนโยธา ส่วนอำเภอ ซึ่งส่วนอำเภอจะมีสำนักงานไปประจำอยู่ตามอำเภอต่างๆ โดยมีนายอำเภอเป็นหัวหน้าส่วนอำเภอกำกับดูแลการทำงานของข้าราชการส่วนอำเภอ ในสมัยนั้นการปฏิบัติงานส่วนอำเภอเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากพื้นที่ในส่วนอำเภอยังเป็นป่าเขาไม่มีถนนหนทางสะดวกสบายอย่างเช่นทุกวันนี้จะมีก็แค่ทางด่านเกวียน ถนนลูกรัง ชาวบ้านเดินเท้ากันเสียส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ส่วนอำเภอจะมีจักรยาน รถมอเตอร์ไซต์เก่าๆ ออกเยี่ยมเยียนประชาชน เก็บภาษีบำรุงท้องที่ สำรวจท้องที่ต่างๆ แม้จะยากเย็นสักเพียงใดพวกเราชาวองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็มิได้ท้อแท้ มุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นให้จงได้
ปัญหาการทำงานในเชิงพื้นที่เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการปฏิบัติภารกิจงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เนื่องจากมีพื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลต่างมีภารกิจให้บริการสาธารณะเช่นเดียวกันตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดก็มีภารกิจตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้ง และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจหน้าที่ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 17 กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่ในการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาจังหวัด สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ
การขับเคลื่อนภารกิจตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยากจะประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งหน่วยงานและเครือข่ายอื่นๆ ในพื้นที่ การร่วมมือกันขับเคลื่อนภารกิจและร่วมดำเนินงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อสร้างผลสัมฤทธิ์ในการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตามแผนงานและเป้าหมายที่วางไว้
ภารกิจในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นภารกิจที่กองกิจการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบดำเนินโครงการและกิจกรรมในด้านการส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้เริ่มขับเคลื่อนอย่างจริงจังเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ซึ่งผู้ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกหมู่บ้าน ตำบล และทุกอำเภอ เพื่อให้ข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีแก่ประชาชนและสร้างเครือข่ายซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกหมู่บ้านทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและแนวทางประชารัฐ จึงเป็นแนวทางสำคัญขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งทางคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรจะต้องนำมาปฏิบัติเพื่อใช้เป็นช่องทางในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายสร้างความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนแห่งการพัฒนา
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเป็นนโยบายหลักของคณะผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานีภายใต้การนำของนายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างผลสัมฤทธิ์ในการนำองค์กร เพื่อสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น ความเป็นเอกภาพของสังคมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินภารกิจและกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนมีความยั่งยืน สามารถบูรณาการขับเคลื่อนได้กับทุกภารกิจทุกภาคส่วนจึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 สำนักงานตั้งอยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กองกิจการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ชั้น 2) ห้องประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจากการปรับโครงสร้างส่วนราชการอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี การจัดคนลงสู่ตำแหน่งตามโครงสร้างใหม่ ทำให้เดิมศูนย์ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองกิจการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ ฝ่ายนโยบายและแผนงาน
วัตถุประสงค์
⦁ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจ
⦁ ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สำนักงาน ก.ก.ถ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
⦁ เป็นศูนย์ต้นแบบพัฒนากระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมประชาชน และการปรับปรุงระบบการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการเปิดโอกาส เปิดช่องทางให้ประชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นกับประชนชนในการร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น
⦁ เป็นศูนย์ต้นแบบการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่ รวมทั้งการคิดค้นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา และความต้องการของประชาชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
อำนาจหน้าที่
1. ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น
2. ประสานความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมมือกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ
ประชาชนในการพัฒนานวัตกรรมท้องถิ่น
3. จัดทำแผนปฏิบัติงานของศูนย์ประจำปี รวมทั้งการติดตามและรายงานผลการดำเนินการของศูนย์ฯ
อย่างน้อยปีละ 1 รอบ
4. สร้างช่องทางการรับรู้และช่องทางการประสานงาน เปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการ
บริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
5. เป็นศูนย์นำร่องเพื่อเป็นแบบอย่าง (Model) เผยแพร่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ และหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม
6. ขยายผลการมีส่วนร่วมของประชาชนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
7. อื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร