9 นโยบาย เพื่อประชาชนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
มีความอยู่ดี กินดี มีสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
1. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งเกษตรกรรม
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มระบบ โดยเฉพาะการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในทุกหมู่บ้าน ตำบล เพื่อให้เกิดความมั่นคงในทุก ๆ ด้านของปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ตลอดจนอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารทะเล การจัดการตลาดและส่งออก เพื่อยกระดับให้เป็นแหล่งครัวของโลก เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ลดรายจ่าย และรัฐได้รับภาษีในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการจัดเก็บภาษี พ.ศ. 2568 คาดว่ามีการจัดเก็บจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นประมาณ 40 % ของปีที่ผ่านมา
2. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งไฟฟ้าคุณภาพ
- ดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริม การบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบไฟฟ้าคุณภาพ จะต้องทั่วถึงทุกครัวเรือน
3. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- พัฒนาถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีคุณภาพ เพื่อให้พี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เดินทางสัญจรไปมาได้รับความสะดวกและปลอดภัย ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนการดูแลระบบจราจร และการรักษาความสงบเรียบร้อยของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
4. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
- ส่งเสริม และพัฒนาให้มีการบริหารจัดการตนเองแบบมีส่วนร่วม มีผลิตภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจเพื่อเสริมรายได้ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับพื้นที่ และระดับภูมิภาค พร้อมความก้าวหน้าสู่แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยพัฒนาการคมนาคม การขนส่ง การสาธารณูปโภคทุกระบบให้รองรับครบวงจร และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เรามีพื้นที่การท่องเที่ยวทั้งเกาะ ทั้งทะเล และพื้นที่ห้วยป่าชายเขา พร้อมทั้งมีภูเขา เป็นธรรมชาติที่ดี สามารถที่จะกำหนดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
5. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งการกีฬา
- ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการกีฬาในทุกระดับ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกพื้นที่ พัฒนาบุคลากรด้านการกีฬา และจัดกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสุขภาพและเพื่อความเป็นเลิศในระดับต่าง ๆ สู่ความสำเร็จในระดับสากล พร้อมยกระดับการกีฬา สู่การท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจและสุขภาพ จะจัดให้มีสนามกีฬามาตรฐานทุก ๆ อำเภอ ในปี 2568 จะทำสนามกีฬามาตรฐานให้เสร็จสมบูรณ์แบบส่วนหนึ่ง และในปี 2569 จะทำให้แล้วเสร็จทุก ๆ อำเภอสนามกีฬามาตรฐานนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในอำเภอนั้น เพื่อให้ลูกหลานหันมาเล่นกีฬา พ้นภัย และปลอดภัยจากยาเสพติด สนามกีฬาประจำอำเภอแต่ละแห่งจะเป็นศูนย์รวมในการจัดงานแข่งขันกีฬา หรือจัดงานกิจกรรมของอำเภอนั้นได้ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คงต้องขอความร่วมมือจากสมาชิกสภาองค์การบริหารจังหวัดทุกท่านดู ๆ พื้นที่ และประสานกับส่วนอำเภอนั้น เพื่อความรวดเร็ว
6. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น
- ส่งเสริมและสนับสนุนการค้นหารากเหง้าทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สมัยอาณาจักรเมืองศรีวิชัย สวนโมกขพลาราม ฯลฯ ดูแลบำรุงรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะสนับสนุนขับเคลื่อนการเสนอให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้แก่ เมืองโบราณไชยา เมืองโบราณเขาศรีวิชัย เมืองโบราณเวียงสระ และบริวาร
7. สุราษฎร์ธานี เมืองแห่งธรรมาภิบาล
- บริหารงานด้วยหลักธรรมภิบาล บริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ประชาชนมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะของประชาชนในทุกพื้นที่ พร้อมนำมาแก้ไขและนำไปพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตลอดจนคำนึงถึง การมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
8. การก่อสร้างสำนักงานใหญ่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ในปัจจุบันนี้สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ใช้อยู่เป็นสำนักงานใช้หลายสิบปี ตั้งแต่สมัยเรายังไม่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นเราใช้เจ้าหน้าที่ไม่กี่คน ขณะนี้ความเปลี่ยนแปลงกฎหมายองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้เปลี่ยนแปลงไป ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงในระบบการปกครองเพิ่มมากขึ้น มีเจ้าหน้าที่ทำงานเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบเท่าสำนักงานเก่าอยู่กันอย่างแออัด บางหน่วยงานอยู่กระจัดกระจายทำให้การดูแล และทำงานลำบากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 และจะได้ตั้งงบประมาณภายในปีนี้ เพื่อเริ่มสำรวจ ออกแบบ ขณะนี้เราได้เชิญ เจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ ซึ่งมีที่ดินอยู่หลายแห่งด้วยกัน เราจะทำเรื่องขอที่ดินจากกรมธนารักษ์ เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ได้มอง ๆ ไว้หลายแห่งด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ถนนสายเมนใหญ่จากข้าง ๆ สำนักงาน ป.ป.ช. ไปจนถึงอำเภอพุนพิน อยู่ในถนนเส้นเดียวกันมีอยู่ด้วยกันหลายแห่ง อย่างไรเสียคงต้องตั้งคณะกรรมการช่วยตรวจสอบดูแลว่าตรงไหนมีความเหมาะสมที่สุด ที่จะสร้างสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อการออกแบบรูปแบบต่าง ๆ เสร็จสิ้นแล้ว จะได้มีการหารือกับสมาชิกสภาจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง
9. การประสานงานขอความร่วมมือกับกระทรวง ทบวง กรม จากภาครัฐ
- โดยจะใช้หลักดังนี้ สำหรับโครงการใหญ่ ๆ เราจะประสานขอความร่วมมือ โครงการงบประมาณจากส่วนกลาง หรือประสานงานกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนนี้เราสามารถทำได้ เพื่อประหยัดงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เราได้นำงบประมาณไปใช้กับโครงการอื่น ๆ ในท้องถิ่นของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด