อีเมล์/เลขบัตรประชาชน :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
 
 
สินค้าและอาหารพื้นเมือง
หอยนางรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี

หอยนางรมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่นักบริโภคว่า เป็นอาหารทะเลที่รสชาติขึ้นชื่อ คุณสมบัติที่สร้างคุณค่าของหอยนางรมคือ เนื้อในขาวสะอาด รสออกหวาน ไม่มีกลิ่นคาว และมีคุณค่าทางอาหารสูง 

หอยนางรมเริ่มมีการเพาะเลี้ยงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2504  โดยทำการทดลองเลี้ยงที่แหลมซุย อำเภอไชยา ต่อมาได้เพาะเลี้ยงที่บริเวณปากคลองท่าทอง และปากคลองกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ หอยนางรมที่ว่านี้ มี 2 ชนิดคือ ชนิดพันธุ์เล็ก เรียกว่าหอยเจาะ ส่วนชนิดพันธุ์ใหญ่ เรียกว่าหอยตะโกรม ลักษณะเป็นหอยมี 2 ฝา พบทั่วไปบริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง หอยนางรมจะออกวางไข่ตลอดปี แต่จะพบมากในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน หอยนางรมจะวางไข่ครั้งหนึ่งได้ถึงประมาณ 1-9 ล้านฟอง

สาเหตุ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มีการเลี้ยงหอยนางรมมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของหอยนางรม และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ลักษณะการขึ้นลงของน้ำทะเลไม่รุนแรงเปลี่ยนแปลงมากนักและมีลักษณะเป็นอ่าว ที่บรรจบกับแม่น้ำที่เป็นน้ำจืดระดับน้ำทะเล ทำให้ระดับความเต็มของน้ำทะเลอยู่ในภาวะสมดุลที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของ หอย นอกจากนี้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานียังมีแหล่งน้ำพุร้อนที่ผุดขึ้นเป็นระยะ เมื่อสังเกตจากแผนที่จะพบว่าเป็นแนวเดียวกับน้ำพุร้อนที่จังหวัดระนอง ผ่านอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริเวณอ่าวบ้านดอน 


แสดงว่าภายใต้พื้นดินตามแนวดังกล่าว อาจจะเป็นแนวของเปลือกโลกที่ยังมีการระบายความร้อนออกมา ทำให้น้ำที่อยู่ในระดับที่เหนือขึ้นมาได้รับความร้อนผุดออกมาเป็นน้ำพุร้อน ในบริเวณอ่าวบ้านดอนก็อาจจะมีน้ำพุร้อน ผุดขึ้นใต้ท้องทะเล ทำให้อุณหภูมิของน้ำไม่เหมือนกับที่อื่น 

ประกอบกับเป็นบริเวณที่แม่น้ำตาปีไหลมาบรรจบ จึงเกิดเป็นน้ำกร่อยที่มีความเค็มพอเหมาะและอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสม ทำให้มีแพลงตอนซึ่งเป็นอาหารของหอยนางรมเป็นจำนวนมาก หอยนางรมที่บริเวณปากอ่าวตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จึงมีขนาดของลำตัวใหญ่กว่าที่อื่น ๆ และมีมากเป็นพิเศษ เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์นั่นเอง